ทองหยอด



ส่วนผสม


ไข่เป็ด 16 ฟอง
น้ำตาลทราย 2 1/2 กิโลกรัม
แป้งข้าวเจ้า 6 ช้อนโต๊ะ
น้ำ 8 ถ้วย


วิธีทำ
1. แป้งข้าวเจ้าตากแห้ง อบดอกมะลิและกระดังงาไว้ 1 คืน แล้วจึงค่อยใช้การเชื่อมน้ำตาล ต้องทำอย่างเดียวกับทำทองหยิบ สำหรับทำทองหยอดต้องเชื่อมน้ำตาล 2 ชนิด คือ
1.1 เชื่อมน้ำตาล 1 กก. น้ำ 4 ถ้วย อบดอกมะลิ กระดังงา ไว้สำหรับแช่
1.2 เชื่อมน้ำตาล 1 1/ 2 กก. น้ำ 4 ถ้วย สำหรับหยอด เมื่อเชื่อมดีแล้วใส่กระทะทอง
2. ต่อยไข่ขาว แยกไข่ขาว ไข่แดงรีดเอาเยื่อออก ตีไข่แดงให้ขึ้นฟูมากกว่าทองหยิบ
3. แบ่งไข่ออกเป็น 4 ส่วน ผสมไข่กับแป้งที่ละส่วน ไข่ 1 ส่วน ใส่แป้ง 1 1/2 ช้อนโต๊ะ
4. ยกกระทะน้ำเชื่อมตั้งไฟให้เดือดพล่าน ใช้นิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ และนิ้วกลาง ขยุ้มแป้งให้ติดนิ้วมาให้พอดี 1 ลูก การหยอดนั้นให้ใหญ่เล็กตามพอใจ พอขยุ้มขึ้นมือเป็นจังหวะยั้งให้ติดนิ้วกลาง และยกนิ้วหัวแม่มือขึ้นจรดนิ้วกลางเหนือแป้งที่ขยุ้มขึ้นมา แล้วรูดแป้งไปทางปลายนิ้วทั้ง 3 นิ้ว สะบัดลงในกระทะทันที การหยอดต้องทำตามอาการที่กล่าวนี้ให้เร็วที่สุดมิฉะนั้นทองหยอดจะไม่เป็นดังทองหยอดที่เห็นอยู่

ขนมไทย เป็นขนมที่ใช้ฝีมือในการทำ เป็นขนมที่มีความเป็นพื้นบ้านเพราะมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยน้อย ลักษณะของเครื่องปรุง เช่น แป้ง น้ำตาล กะทิ หรือไข่ ก็ยังผันแปรลักษณะและรสชาติของขนมไปตามวัตถุดิบได้ง่าย การทำขนมไทยจึงอาจไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ก็ไม่ยากเกินจะทำได้ ลักษณะของขนมไทยจะมีความสวยงาม กลิ่นหอม และรสชาติที่อร่อยกลมกลืน ขนมไทยที่ใช้ความประณีตบรรจงแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจในการทำแสดงให้เห้นถึงวัฒนธรรมประเพณี และในขนมไทยยังแฝงความหมายต่างๆไว้ด้วย ในงานบุญ วันตรุษสารท งานพิธีมงคลต่างๆ ขนมที่ใช้จึงมีความหมายในทางสิริมงคลทั้งสิ้น เช่น งานแต่งงานจะใช้ขนมกง ขนมสามเกลอ ขนมชะมด งานพิธีฉลองเลื่อนขั้นก็จะใช้ขนมชั้น ขนมจ่ามงกุฎ ขนมทองเอก เป็นต้น